วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

สมัยสุโขทัย

        ดนตรีไทย มีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่นกันอย่างพื้นเมือง เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย ในสมัยนี้ ปรากฎหลักฐานกล่าวถึงไว้ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดี ที่แต่งในสมัยนี้ ได้แก่ แตร, สังข์, มโหระทึก, ฆ้อง, กลอง, ฉิ่ง, แฉ่ง (ฉาบ), บัณเฑาะว์ พิณ, ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่าคือ ซอสามสาย) ปี่ไฉน, ระฆัง, และ กังสดาล เป็นต้น ลักษณะการผสม วงดนตรี ก็ปรากฎหลักฐานทั้งในศิลาจารึก และหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง "เสียงพาทย์ เสียงพิณ" ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้ สันนิษฐานว่า วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ
   1. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง 1 คน ทำหน้าที่ดีดพิณและขับร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ
   2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน  คนสีซอสามสาย  คลอเสียงร้อง 1 คน  และ คนไกว บัณเฑาะว์ให้จังหวะ 1 คน
   3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่อง 5 มี 2 ชนิด คือ
     วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา  ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ  จำนวน 5  ชิ้น คือ
          1. ปี่
          2. กลองชาตรี
          3. ทับ (โทน)
          4. ฆ้องคู่
          5. ฉิ่ง
ใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย)
     วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก  ประกอบด้วย เครื่องดนตรีจำนวน 5  ชิ้น  คือ
          1. ปี่ใน
          2. ฆ้องวง (ใหญ่)
          3. ตะโพน
          4. กลองทัด
          5. ฉิ่ง
ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบการแสดงมหรสพต่าง ๆ จะเห็นว่า วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก
   4. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอา วงบรรเลงพิณ กับ วงขับไม้ มาผสมกัน เป็นลักษณะของ วงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง 4 คน คือ
          1. คนขับลำนำและตี กรับพวง ให้จังหวะ
          2. คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง
          3. คนดีดพิณ
          4. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น